เหรียญ คริปโตเคอเรนซี่ หรือเรียกสั้นๆว่า คริปโต นั้นมีมากกว่ากว่า 10,000 สกุลเงินที่มีการเกิดใหม่ และตายไปในระบบอยู่ทุกๆวัน เมื่อมีสกุลเหรียญเยอะ การจำแนกเหรียญเป็นประเภทจะช่วยให้นักลงทุนหาสินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนของตัวเองได้
เช่นเดียวกับหุ้นที่มีการแบ่งประเภทไว้ตามลักษณะของธุรกิจ เช่น หุ้นเทคโนโลยี หุ้นอสังหาฯ หุ้นคมนาคม เป็นต้น คริปโต เองได้มีการแบ่งประเภทเหรียญไว้ตามลักษณะการใช้งานและวัตถุประสงค์ของเหรียญ จะมีประเภทไหนบ้าง ไปตามอ่านพร้อมกันได้เลย
Store of Value
Store of value คือ เหรียญ คริปโต ประเภท “รักษามูลค่า” ซึ่งนิยามของคำว่ารักษามูลค่าคือการที่สินทรัพย์นั้นจะไม่โดนผลกระทบเรื่อง “การเสื่อมราคา” และสินทรัพย์นั้นต้องมีมูลค่าคงที่ หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่มีมูลค่าลดลง ซึ่งสาเหตุในการเกิดการเสื่อมราคานั้นก็มีหลายปัจจัย เช่น มีปริมาณสินทรัพย์นั้นในตลาดมากเกินไป (มึอุปทานมากกว่าอุปสงค์) การเสื่อมทางกายภาพ ทำให้เกิดการเสื่อมค่าในตัวเอง
สินทรัพย์ที่รักษามูลค่าได้ควรเป็นสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัด มีความหายาก เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่เสื่อมกายภาพหรือเสียหายได้ตามกาลเวลา และสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติตามนั้นคือ แร่ทอง แร่เงิน เพชร ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง
แล้วเหรียญ คริปโตเคอเรนซี่ เหรียญไหนกันที่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็น Store of Value คำตอบคือ Bitcoin (BTC) เพราะ Bitcoin มีจำกัดแค่ 21ล้านเหรียญเท่านั้น และไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ มีปริมาณการซื้อขายรายวันและ Market Cap มากที่สุดในตลาดแสดงถึงความต้องการที่สูง และไม่เสื่อมสลายหรือถูกทำลายได้เพราะว่าอยู่ในรูปแบบดิจิทัล จนมีการกล่าวว่า Bitcoin คือ “Digital Gold” หรือทองคำในโลกดิจิทัล
นอกจาก Bitcoin แล้วยังมีเหรียญ Bitcoin cash (BCH) และ Litecoin (LTC) ที่เป็นเหรียญ Store of Value เหมือนกัน
Stablecoin
“Stablecoin” คือ เหรียญที่มีมูลค่าคงที่ หรือผันผวนน้อยมากๆในระดับไม่เกิน 1% การใช้งานหลักคือเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าหรือกำหนดราคากลางของตลาด จะถูกแบ่งย่อยออกมาอีก 4ประเภท ดังนี้
1. Fiat – collateralized (รองรับด้วยเงินเฟียต)
Stablecoin ที่รองรับด้วยสกุลเงินเฟียต เป็นประเภทที่รู้จักกันมากที่สุด หลักการง่ายๆคือการที่คุณเอาเงินบาท หรือสกุลเงินอื่นเข้าไปฝากใน Defi และคุณจะได้เหรียญดิจิทัลกลับออกมาในปริมาณที่เท่ากัน แต่ทั้งนั้นในโลก Defi ได้ยอมรับให้ใช้สกุลเงิน USD หรือดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวตรึงราคา เพราะว่าเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่ง มีการใช้งานมากที่สุดทั่วโลก
อัตราการตรึงราคาจะอยู่ที่สัดส่วน 1:1 ตัวอย่างเช่น 1USD (ดอลลาร์สหรัฐ) มีค่าเท่ากับ 1USDT (Stablecoin) และหากอุปทานของดอลลาร์สหรัฐมีการขึ้นหรือลง ก็จะส่งผลต่อเหรียญ USDT ไปในทางเดียวกันด้วย
ตัวอย่างเหรียญ Stablecoin แบบ Fiat – collateralized ได้แก่ tether (USDT), USD Coin (USDC), Binanace USD (BUSD), DAI
2. Commodity – collateralized (รองรับด้วยสินค้าโภคภัณฑ์)
เหมือนกับการตรึงราคาด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เปลี่ยนเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างแร่หายาก เช่น ทองคำ เงิน น้ำมัน หรือแม้กระทั่ง อสังหาริมทรัพย์ แต่ในกรณีของ Commodity Collateralized Stablecoin ส่วนมากจะใช้ทองคำเป็นตัวตรึงราคาไว้
ซึ่งทองคำเองก็มีแนวโน้มที่ราคาค่อยปรับตัวขึ้นมาตลอด เป็นเหมือนแรงจูงใจอย่างหนึ่งให้คนหันมาถือเหรียญ Stablecoin ที่มีทองคำรองรับกัน และเป็นการช่วยกระจายให้คนเข้ามาลงทุนในทองคำได้ด้วย
3. Crypto – collateralized (รองรับด้วย Crypto)
การสร้างเหรียญประเภทนี้คือใช้เหรียญอีกสกุลใส่เข้าไปเพื่อเป็นหลักประกันในการปล่อยเหรียญ Stablecoin ใหม่ออกมา แต่เหรียญที่จะนำไปใส่เป็นหลักประกันต้องมีมูลค่าสูงกว่าที่จะปล่อยออกมาในอัตราส่วน 50%-150% อาจมากหรือน้อยกว่านั้นก็ได้
ตัวอย่างเช่นสมมุติว่าถ้าเราเอา 1 Ethereum (ETH) มูลค่า 500$ มาทำการค้ำประกัน เพื่อเอา Stabecoin DAI ออกมา ระบบแจ้งว่าสามารถสร้าง Stablecoin ออกมาได้ในสัดส่วน 50% หมายความว่าเราจะได้เหรียญ DAI ออกมามูลค่า 250$
ระบบจะคำนวณให้ด้วยว่าเราจะโดน “Liquidation” หรือการบังคับขายสินทรัพย์เมื่อราคาเหรียญที่ค้ำประกันตกไปที่ราคาเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น ถ้า 1 ETH ตกไปเหลือ 300$ เราจะโดน Liquidation และเราต้องทำการฝาก ETH เข้าไปเพิ่มเพื่อให้ไม่โดนหลักค้ำประกันยังอยู่ หรือพูดง่ายๆคือถ้าไม่เติม ETH ใหม่เข้าไป ระบบจะยึด ETH เก่าที่เราเคยฝากไว้ไป เราก็จะเหลือแค่เหรียญ DAI มูลค่า 250$ ที่เอาออกมาตอนแรกเท่านั้น
ตัวอย่างเหรียญ Stablecoin แบบ Crypto – collateralized ได้แก่ DAI
4. Non – collateralized (ไม่รองรับด้วยอะไรเลย)
หรือเราอาจจะเรียกอีกชื่อว่า “Algorithmic Stablecoin” เป็น Stablecoin ที่ไม่มีการรองรับหรือตรึงราคาโดยอะไรเลย แต่จะใช้อัลกอริทึมในการควบคุมราคา รวมไปถึงอุปทาน และอุปสงค์ให้เสถียรแทน เหรียญประเภทนี้จะใกล้เคียงกับเงินจริงมากที่สุด เพราะว่าเงินที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ก็ไม่มีมีการใช้สินทรัพย์ใดมาค้ำเพื่อผลิตเงินออกมา แต่ควบคุมโดยการปรับอัตราดอกเบี้ย
หลักการในการทำงานคร่าวๆอย่างง่าย คือ เราต้องตั้งค่าระบบให้เหรียญมีมูลค่าอยู่ที่ 1$ เมื่อมีการซื้อเหรียญมากขึ้น อุปสงค์มากขึ้น ราคาสูงขึ้นเป็น 2$ ตอนนั้นเองที่ระบบจะสร้างเหรียญเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีอุปทานมากขึ้น และให้ราคาลดลงกลับมาอยู่ที่ 1$ เหมือนเดิม ในทางตรงกันข้าม ถ้าราคาลดลงต่ำกว่า 1$ ระบบจะทำลายเหรียญที่ค้างอยู่ในตลาดเพื่อให้มีอุปทานน้อยลง และให้ราคากลับมาอยู่ที่ 1$ เหมือนเดิม
ตัวอย่างเหรียญ Stablecoin แบบ None – collateralized ได้แก่ TerraUSD (UST), sUSD (SUSD)
Smart contract
Smart contract คือ เหรียญประเภท “สัญญาอัจฉริยะ” เป็นอีกประเภทที่ค่อนข้างมีความสำคัญ Smart Contract ได้เกิดมาพร้อมกับ Butcoin แต่เป็นเวอร์ชันพื้นฐานที่ทำได้แค่ ส่งเงิน โอนเงิน รับเงิน แต่ Smart Contract ที่แท้จริงได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการเกิดของ Ethereum ที่ทำอะไรได้มากกว่านั้นมาก
Smart Contract ของ Chain อื่นๆหลังจาก Bitcoin นั้นสามารถทำได้หลายอย่างกว่า และง่ายกว่ามาก เพราะว่านักพัฒนาไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ด หรือชุดคำสั่งอะไรใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งกระบวนการนั้นค่อนข้างยาก ซับซ้อน และใช้เวลามาก นักพัฒนาเพียงแค่ทำสิ่งที่เรียกว่าการ “Fork” หรือ การคัดลอก Smart Contract ดั้งเดิมของ Chain นั้น ๆ และสามารถแก้ไข ลบ เพิ่มเติมการทำงานอย่างอื่นเข้าไปได้อย่างอิสระในแบบของตัวเอง โดยที่ข้อมูลทั้งหมดจะยังอยู่ใน Blockchain เดิมแต่แค่ไปในอีกทิศทาง
ยกตัวอย่างเช่น การนำไปต่อยอดเป็น Dex (Decentralized Exchange) เป็น Defi (Decentralized Finance) เป็น NFT (Non Fungible Tokens) หรือแม้แต่ Stabelcoin เองก็ยังต้องใช้ Smart contract ยิ่งมีการใช้งาน Blockchain มากเท่าไหร่ ความต้องการใช้เหรียญประจำ Blockchain นั้นยิ่งมากขึ้นตาม เพราะว่าต้องใช้เหรียญประจำ Blockchain ในการจ่ายค่าแก๊สนั่นเอง
Defi (Decentralized Finance)
Defi คือ เหรียญที่มีการต่อยอดมาจากประเภท Smart Contract จากหัวข้อด้านบน มีการใช้งานที่หลากหลาย เช่น แพลตฟอร์ม Dex (Decentralized Exchange) สำหรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ หรือแพลตฟอร์ม Lending & Borrowing สำหรับการฝากและกู้ยืมเงินดิจิทัล หรือแพลตฟอร์ม Yield farming สำหรับการฝากเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและรับผลตอบแทน และอื่นๆ
ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีเหรียญของตัวเองที่เรียกว่า “Governance Token” เปรียบเสมือนตัวขับเคลื่อนให้กับแพลตฟอร์มนั้น ๆ และแพลตฟอร์มก็จะเป็นตัวขับเคลื่อน Smart Contract ของ Blockchain นั้นอีกที เหรียญ Governance Token นี้สามารถเอาไปใช้งานต่างๆในแพลตฟอร์มได้ เช่น เอาไป Stake เอาไปปล่อยกู้ เอาไป Farm หรืออื่นๆตามแต่วัตถุประสงค์ของแพลตฟอร์มนั้น และผู้ที่ถือเหรียญยังมีสิทธิโหวต ออกเสียงในการกำหนดทิศทางของแพลตฟอร์มได้
ตัวอย่างเหรียญประเภท Defi ได้แก่ Maker (MKR), SushiSwap (SUSHI), Uniswap (UNI), Pancakeswap (CAKE) และ Aave (AAVE)
Game-Fi (Game Finance)
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เหรียญที่เอาไว้ใช้ในเกม อาจจะเป็นการซื้อของ ซื้อไอเทมต่างๆ ซื้อพื้นที่ ซื้อโฆษณา และยังสามารถนำมาแลกเปลี่ยน ซื้อขายตามตลาดหรือ Dex ต่างๆได้ สำหรับบางเหรียญเมื่อถือแล้วยังมีสิทธิโหวตหรือกำหนดทิศทางตัวเกมได้เหมือนเหรียญ Defi ได้อีกด้วย นอกจากนี้ Game-Fi ส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมโยงกับ NFT และ Metaverse อีกด้วย
Game-Fi นั้นเหมือนเกมออนไลน์คอมพิวเตอร์ทั่วไปที่เรารู้จักกันดี เพียงแต่ทุกอย่างจะทำงานผ่าน Blockchain และ Smart Contract มีทั้งเกมประเภททำฟาร์มเกษตร ต่อสู้แบบ Turn based เก็บเลเวล ผจญภัย เป็นต้น หากเราจะเล่นเกม เราจำเป็นที่จะต้องซื้อเหรียญของเกมนั้น และใช้เหรียญนั้นในการซื้อของต่าง ๆ ในเกม เช่นอาจจะซื้อตัวละคร ซื้อยานพาหนะ ซื้ออุปกรณ์ หรืออื่นๆก่อนที่จะเริ่มเล่นเกมได้ และนั่นเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่ต้องเตรียมตัว
แต่ใช่ว่าเราจะเสียเงินตั้งแต่ก่อนเริ่มเกมอย่างเดียว ทุกอย่างใน Defi สามารถสร้างเงินได้ เราสามารถสร้างรายได้จากการเล่น Game-Fi ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเรียกว่า “Play to Earn” (P2E) แปลว่าการที่เล่นเพื่อรับเงินนั่นเอง ซึ่งเงินนั้นมาจากการขายไอเทมต่างๆที่เราซื้อมาตอนแรก หรือขายไอเทมอื่นๆที่ได้เพิ่มมาระหว่างเล่นเกม บางเกมเมื่อเราเล่นผ่านหรือชนะ จะได้รางวัลเป็นเหรียญของเกมนั้น ซึ่งเราก็เลือกได้ว่าจะเอาไปซื้อไอเทมเพิ่ม หรือจะเอาเหรียญไปขายก็ได้
ตัวอย่างเหรียญประเภท Game-Fi ได้แก่ Dencentraland (MANA), The Sandbox (SAND), Axie Infinity (AXS), Gala Games (GALA)
Meme Coin
เป็นเหรียญที่สร้างสีสันให้กับวงการ Cryptocurrency ด้วยการเป็นกระแสและเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งเรื่องความผันผวนของราคา เหรียญประเภท Meme นั้นเรียบง่าย เพราะมีแต่เหรียญเปล่าๆ ไม่มีแพลตฟอร์ม ไม่มีการใช้งานอะไรเลย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์เดียวคือ เอาสนุก อยากสร้าง เท่านั้น
แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีค่าไปซะทีเดียว บางเหรียญก็ได้สร้างเศรษฐีมาแล้วหลายคน อย่างที่ได้บอกไปว่าเหรียญประเภทนี้มีความผันผวนสูงมากในระดับ 1000% !!! และไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรทั้งสิ้น ราคาจึงขึ้นอยู่กับการปั่นกระแสเพียงอย่างเดียว ใครที่ซื้อตั้งแต่ราคายังต่ำและไปขายได้ในช่วงที่มีการปั่นกระแสได้ ก็จะกลายเป็นเศรษฐีไปในทันที
ตัวอย่างเหรียญประเภท Meme Coin ได้แก่ Dogecoin (DOGE), Shiba Inu (SHIB), Baby Doge Coin, Dogelon Mars (ELON)
CBDC (Central Bank Digital Currency)
หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินหรือไม่คุ้นเคยเกี่ยวกับเหรียญประเภทนี้ คือเหรียญที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ตัวอย่างเช่น เหมือนการที่แบงก์ชาติของประเทศไทยผลิตเงินบาทที่เป็นธนบัตรออกมา แต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลนั่นเอง
CDBC ยังไม่ได้มีการนำใช้มากนัก เพราะยังต้องศึกษาในหลายๆมิติก่อนว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง เช่น เรื่องกฎหมาย เรื่องความมั่นคงและเสถียรภาพของค่าเงิน รวมไปถึงความพร้อมของประชาชนเอง ปัจจุบันมีหลายประเทศกำลังศึกษาและอยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้งาน บางประเทศมีการใช้จริงแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการกระจายไปสู่ประชาชนทั่วไป ประเทศไปเองก็ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้
สรุป
เมื่อเรารู้ประเภทของเหรียญแล้ว ก็สามารถเลือกลงทุนให้เหมาะกับรูปแบบการลงทุนของตัวเองได้โดยการกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม เช่น 95% ของพอร์ทอาจจะแบ่งไว้สำหรับ Smart Contract กับ Defi ส่วนอีก 5% แบ่งไว้สำหรับ Game-Fi และ Meme Coin แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าเราจะเลือกลงทุนในเหรียญใดก็ตาม ต้องศึกษาเหรียญนั้นให้รอบด้านก่อน เหรียญที่ดูดีตอนนี้ อาจจะไม่ดีในอนาคต ต้องมีการวางแผนในเรื่องที่จะลงทุนด้วย
อ้างอิง
https://academy.binance.com/en/glossary/store-of-value
https://101blockchains.com/types-of-stablecoins/
Pingback: กรณีศึกษาวิกฤต เหรียญ LUNA Last 2023 - EaForexCenter