12 วิธีเลือกกระดานเทรด Cryptocurrency สำหรับมือใหม่

วิธีเลือก กระดานเทรด Crypto

กระดานเทรด Cryptocurrency ต่างจากของหุ้น ที่ส่วนใหญ่แล้วก็เทรดในกระดาน SET ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่กระดานเทรดของ Crypto นั้นมีมากมายหลากหลายกระดาน ทั้งในไทยและต่างประเทศ แล้วทุกกระดานมันเหมือนกันหรือเปล่า? เลือกยังไงดี? ต้องดูตรงไหนบ้าง?

“อยู่ในมุมที่ตัวเองมีความสุข ไม่จำเป็นต้องโดดเด่น ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร”


กระดานเทรด คืออะไร?

กระดานเทรด Crypto (ต่อไปในบทความนี้ขอใช้คำว่า Exchange) คือ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนระหว่างเงินเฟียต กับ Cryptocurrency หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลชนิดอื่นๆ และเก็บค่าธรรมเนียมในแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น หน้าที่หลักของกระดานเทรดคือ นำผู้ซื้อและผู้ขายเหรียญCryptocurrency มาเจอกัน เตรียมแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อการซื้อขาย และทำการจับคู่คำสั่งซื้อของทั้งสองฝ่ายให้ตรงกัน

ในบทความนี้ eaforexcenter จะมาบอกถึงตัวแปรสำคัญในการเลือกกระดานเทรดสำหรับมือใหม่กัน

ขอบเขตการให้บริการ

อันดับแรกเลยคือเราต้องดูก่อนว่า Exchange นั้นให้บริการที่ประเทศไหนบ้าง หรือว่ารัฐไหนบ้าง เพราะแต่ละที่กฎหมายไม่เหมือนกัน เพราะถ้าหากไม่ได้ให้บริการในพื้นที่ที่เราอยู่แล้วนั้นเราก็จะไม่สามารถใช้งานแพลตฟอร์มของ Exchange นั้นได้ หากเป็นExchange ในไทยก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเกิดกรณีที่เราต้องเดินทางไปบางประเทศ อาจทำให้เราไม่สามารถใช้งาน Exchange ของไทยได้

ตัวอย่างเช่น หากเป็นเว็บไซต์ exchange.com ก็ใช้งานได้ทั่วโลก แต่หากเป็น exchange.th อาจจะต้องอยู่ในประเทศไทยเท่านั้นถึงจะใช้งานแพลตฟอร์มได้

ความง่ายต่อการใช้งาน

หากคุณเป็นมือใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับการเทรด การเลือกแพลตฟอร์มที่ง่ายต่อการใช้งานนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมือใหม่ส่วนใหญ่มักกลัวและตกใจกับหน้าตาของ exchange ที่มีตารางกราฟมากมาย ช่องคำสั่งต่าง ๆ ตัวเลขวิ่งไปมา ซับซ้อนน่าปวดหัวกับข้อมูลที่เยอะเกินไปสำหรับมือใหม่

เพราะฉะนั้น การหาแพลตฟอร์มที่เป็นมิตร และง่ายสำหรับมือใหม่ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเอาไว้พิจารณาอีกปัจจัยหนึ่ง เช่น บางแพลตฟอร์มมีฟังก์ชันการแสดงผลแบบ “Basic” ที่หน้าตา interface ที่เราได้เห็นจะดูสะอาด มองง่าย ไม่รก มีเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น และการแสดงผลแบบ “Advanced” ที่จะมี interface จะมีข้อมูลแสดงขึ้นมามากขึ้น ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ทั้งสองแบบ แต่อาจจะเริ่มจาก Basic ก่อนเพื่อทำความคุ้นชินไปสักระยะ แล้วค่อยเปลี่ยนไปใช้แบบ Advance ก็ได้

ปริมาณสภาพคล่อง

นักเทรดหรือ เทรดเดอร์ต้องมีเงินอยู่กับตัวเองในปริมาณหนึ่งเพื่อที่จะได้ทำการเทรดได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับ Exchange ที่ต้องมีสินทรัพย์หลายชนิดในปริมาณมากเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนของเหล่านักเทรดในแต่ละวัน

และเพื่อที่จะมีสินทรัพย์หลายชนิดในปริมาณมาก Exchange ต้องมีผู้ใช้งานจำนวนมาก รวมไปถึงผู้ใช้งานที่ถือสินทรัพย์จำนวนมากอยู่ที่ในแพลตฟอร์ม และต้องจำนวนครั้งของการซื้อขายจำนวนมากเช่นกัน ทั้งนี้สภาพคล่องจะสำคัญมาก ๆ ในช่วงเวลาที่เกิดความผันผวน หรือ ช่วงเวลาที่มีรายการซื้อขายเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในตลาด Crypto ซึ่งหากมีสภาพคล่องน้อย อาจจะทำให้ราคาขึ้นและลงได้อย่างรุนแรง

ตัวอย่างเช่น Exchange บางแห่งที่เมื่อมีความผันผวนของราคาเหรียญ A เกิดขึ้น ผู้ใช้งานที่ถือเหรียญ A ในแพลตฟอร์มนั้นเลยแห่เข้าไปขายเหรียญนั้นทิ้ง ทำให้ Exchange มีเงินไม่พอ ขาดสภาพคล่อง จนต้องระงับการซื้อขายเหรียญ A ไปเป็นการชั่วคราว

จำนวนตัวเลือกของสินทรัพย์

ในโลกของ Cryptocurrency มีเหรียญเป็นหมื่น ๆ สกุล แต่ไม่ใช่ว่าทุก Exchange จะมีเหรียญทั้งหมดนั้น คำถามคือ เหรียญที่คุณต้องการจะเทรดมีอยู่ใน Exchange นั้นหรือเปล่า?

Exchange เกือบทั้งหมดก็จะมีเหรียญที่ได้รับความนิยม หรือเหรียญที่มี MarketCap ใหญ่ ๆ อยู่ในแพลตฟอร์ม เช่น BTC, ETH, SOL, BNB, ADA เป็นต้น แต่เหรียญที่ได้รับความนิยมน้อย ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก MarketCap น้อย ก็อาจจะไม่ได้อยู่ใน Exchange ทั่วไป เพราะฉะนั้นหากเราต้องการเทรดเหรียญเล็ก ๆ แปลก ๆ ก็อาจจะต้องมองหา Exchange ที่เล็กกว่าทั่วไป

ความปลอดภัย

ความปลอดภัยเป็นอีกปัจจัยที่เราควรวางไว้เป็นอันดับต้น ๆ ในการตัดสินใจเลือก Exchange เพราะเงินหรือเหรียญทุกอย่างที่เราฝากไว้ใน Exchange ก็เปรียบเหมือนไม่ใช่เหรียญของเรา แต่กลายเป็นเหรียญของ Exchange ไปแล้ว อย่างที่มีคำที่บอกว่า “Not youe key, Not your coin”

การถือเหรียญใน Exchange คือการที่เราเชื่อใจและไว้วางใจให้ Exchange นั้นดูแลเหรียญของเราไม่ให้หายไปไหนจนกว่าเราจะเป็นคนทำการซื้อขายเอง แต่ก็อาจเกิดเหตุที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น Exchange โดนแฮก หรือแม้แต่ตัวพนักงานของ Exchange นั้นขโมยเหรียญไปซะเอง แน่นอนว่ามันเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

Exchange ส่วนใหญ่ก็ได้พยามโชว์ถึงระบบความปลอดภัยของตัวเองให้ผู้ใช้งานทั่วไปให้เห็นได้ผ่านทางเว็บไซต์ แต่ก็ไม่ได้มี Exchange ที่ไหนปลอดภัยได้ 100% และก็อยากที่จะตอบได้ว่า Exchange ที่ไหนปลอดภัยที่สุด เพราะฉะนั้น เราอาจจะลองดูจาก Exchange ไหนที่เปิดมานานแล้ว และมีปัญหาการใช้งานน้อย ไม่ค่อยมีข่าวหรือเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับ Exchange ออกมาให้เห็น ก็ให้เก็บไว้เป็นตัวเลือกได้

ยกตัวอย่างระบบที่แสดงถึงสิ่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับ Exchange

Cold Storage

คือ ที่ไว้สำหรับเก็บเหรียญแบบ offline หมายความว่า แฮกเกอร์จะไม่สามารถทำการแฮกผ่านระบบ online เข้ามาได้

Multi-Signature wallet

คือ การที่ต้องมีผู้อนุมัติหลายคนเพื่อยืนยันการทำธุรกรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนคนเดียว เพราะฉะนั้น หากจะมีการโกงภายในเกิดขึ้น แต่หนึ่งในคนอนุมัติไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถทำธุรกรรมต่อได้

รูปที่ 1 Cold Sotrage คือการเก็บเหรียญแบบออฟไลน์ ป้องกันแฮกเกอร์ในรูปแบบออนไลน์ Multi-Signature wallet คือการที่ต้องมีผู้อนุมัติในการทำธุรกรรมมากว่า 1 คน ป้องกันการควบคุมโดยคนคนเดียว
รูปที่ 1 Cold Sotrage คือการเก็บเหรียญแบบออฟไลน์ ป้องกันแฮกเกอร์ในรูปแบบออนไลน์ Multi-Signature wallet คือการที่ต้องมีผู้อนุมัติในการทำธุรกรรมมากว่า 1 คน ป้องกันการควบคุมโดยคนคนเดียว

ชื่อเสียง

ชื่อเสียงในที่นี้หมายถึง ชื่อเสียงในด้านที่ดี หากที่ไหนที่มีชื่อเสียงไม่ดีเราก็คงไม่เลือกใช้งานอยู่แล้ว ลองคิดว่า สมมุติว่า เราต้องการจะไปพักโรงแรม หรือ อยากไปกินอาหารที่ร้านอาหารดี ๆ สักแห่ง เราก็ต้องค้นคว้าหาข้อมูล รวมไปถึงดูรีวิวจากผู้ใช้งานจริงก่อนว่า ที่นี่เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี เหมาะกับใคร ก่อนที่จะตัดสินไปจองหรือเดินทางไป

ในการเลือก Exchange เองก็สามารถทำได้เหมือนกัน ซึ่งเราก็สามารถหาได้จากบทวิจารณ์ หรือ รีวิวของผู้ใช้งานจริงของ Exchange นั้นก่อนได้ ในบางครั้งก็อาจจะมีการเปรียบเทียบกับที่อื่น เพื่อให้เห็นความแตกต่างชัด ๆ ในเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมเป็นต้นทุนแฝงที่เราต้องระวังให้ดี จะมีค่าธรรมเนียมจากการฝาก ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม ค่าธรรมเนียมจากการถอน และอื่น ๆ อีก ซึ่งแต่ละ Exchange ก็มีตัวเลขเปอร์เซ็นต์ในการเก็บค่าธรรมเนียมแต่ละอย่างไม่เท่ากัน และบางที่อาจจะคิดเปอร์เซ็นต์เป็นขั้นบันได

บาง Exchange มีสิ่งที่เรียกว่า “Exchange Token” ที่หากถือเหรียญนี้แล้วอาจจะได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเทรดใน Binance และเรามีเหรียญ BNB ถืออยู่ใน Exchange เราอาจจะได้จ่ายค่าธรรมเนียมน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ถือเหรียญ BNB

การประกัน

การรับประกันเงินของนักลงทุน เป็นหนึ่งในนโยบายที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ดีสำหรับคนที่ไม่ต้องการฝากเงินไว้กับ Exchange ที่ไม่รู้จัก ซึ่งนโยบายการรับประกันของแต่ละที่อาจจะไม่เหมือนกัน บางที่อาจจะรับประกันเต็มจำนวน บางที่อาจจะรับประกันแค่บางส่วน

แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขของการประกันให้ดีว่าตัว Exchange จะรับประกันเงินในเหตุการณ์ใดบ้าง ตัวอย่างเช่น การถูกโจรกรรมโดย แฮกเกอร์ หรือ การถูกโจรกรรมโดยพนักงานภายใน การล่มหรือขัดข้องของระบบ เป็นต้น ถึงจะรับประกัน แต่หากเกิดจากตลาด หรือผิดพลาดที่ตัวผู้ใช้งานเองจะไม่รัประกันเงิน

ตัวระบบ และ เทคโนโลยี

ระบบ และ เทคโนโลยีที่ดีคือหัวใจหลักของ Exchange เพราะหากหน้าตาการใช้งานสวย แต่หลังบ้านไม่ได้เรื่องก็หลอกผู้ใช้งานได้แค่แปบเดียว ระบบและเทคโนโลยีในที่นี้เราหมายถึง ระบบการจับคู่คำสั่งซื้อขาย และ การรองรับจำนวนธุรกรรมปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น

เพราะเคยเกิดเหตุการที่ ณ ตอนนั้น ตลาดทั่วโลกกำลังผันผวนสูงมาก นักลงทุนเข้าไปทำการซื้อขายในทุกที่ ทำให้บาง Exchange ที่ระบบหลังบ้านไม่ดี รองรับธุรกรรมจำนวนมากไม่ได้ ทำให้ระบบล่มเป็นการชั่วคราว และส่งผลให้นักลงทุนที่ฝากเงินอยู่ในนั้นต้องเสียหายและขาดทุนกันไป

การบริการลูกค้า

สำหรับมือใหม่หลายคนคงมีคำถามมากมายตั้งแต่ วิธีการสมัครเปิดบัญชี การใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ การถอนเงิน รวมไปถึงเหตุการณ์บางอย่างที่อาจจะนำเราไปสู่ปัญหา ดังนั้น การมีผู้ที่คอยให้คำปรึกษาเราได้อย่างทันที และตลอดเวลาก็ถือเป็นเรื่องดี

ตลาด Crypto มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และตลอดเวลา เงินของเราที่ฝากไว้กับ Exchange ก็มีความเสี่ยงและผันผวนตลอดเวลา การตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานที่ช้าจนเกินไปอาจจะส่งผลร้ายแรงต่อนักลงทุนและผู้ใช้งานได้ และยังส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของตัว Exchange เองด้วย ในทางตรงกันข้าม หากมีการช่วยเหลือที่รวดเร็ว และดีจาก Exchange ก็สร้างความพอใจให้กับผู้ใช้งาน และช่วยสร้างชื่อเสียงที่ดีต่อไป เป็นการดึงดูดผู้ใช้งานใหม่ ๆ ให้เจ้ามาเพิ่มได้

รูปที่ 2 การบริการในการสนับสนุนนักลงทุน ให้คำแนะนำ เสนอการแก้ไขที่ดีและรวดเร็ว ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ Exchange และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
รูปที่ 2 การบริการในการสนับสนุนนักลงทุน ให้คำแนะนำ เสนอการแก้ไขที่ดีและรวดเร็ว ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ Exchange และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

ขั้นต่ำ และ เพดาน ของจำนวนฝาก-ถอน

ถ้าเราเป็นนักเทรดที่ไม่ได้มีเงินทุนเยอะ ปัจจัยนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากนัก แต่หากเราเป็นนักลงทุนหรือเทรดเดอร์ที่มีเงินเยอะ ต้องคอยดูเงื่อนไขนี้ไว้ดีๆ เพราะ Exchange ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้จำกัดขั้นต่ำในการฝากเงิน แต่จะจำกัดจำนวนเงินที่เราสามารถทำการถอนได้ในแต่ละครั้ง หรือ แต่ละวัน

ตัวอย่างเช่น Exchange ABC มีเงื่อนไขว่า ผู้ใช้งานสามารถถอนเงินหรือเหรียญมูลค่าไม่เกิน 2,000,000 บาท ต่อวัน เพราะฉะนั้นหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเงินขนาดใหญ่ก็ขอให้ระวังในเรื่องนี้ไว้ด้วย ต่อให้เป็น Exchange ขนาดใหญ่ก็ยังต้องมีจำกัดเพดานการถอน ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับสภาพคล่องของตัว Exchange เอง

มีใบอนุญาต

ในกรณีที่เป็น Exchange ของไทย หรือที่มีเปิดให้บริการในไทย ถ้ามีใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก็ช่วยให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่าเราจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายไทย หากว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับ Exchange เช่น ระบบล่มทำให้นักลงทุนเสียหาย หรือเกิดการแฮกโจรกรรม กฎหมายอาจจะมีการบังคับให้ Exchange ต้องคืนเงินให้กับนักลงทุน

หากเป็น Exchange ของต่างประเทศที่ให้บริการในไทยได้ แต่ไม่ได้ยื่นขอใบรับรองกับ ก.ล.ต. ให้ลองดูว่าได้รับการ Audit จากบริษัทไหนแล้วบ้างหรือยัง หรือไปเชื่อมโยงจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ชื่อเสียงเป็นอย่างไร ความปลอดภัยเป็นอย่างไร มีการรับประกันเงินนักลงทุนหรือไม่

สรุป

ด้วยปัจจัยที่เราได้ยกตัวอย่างมาให้ทั้งหมด เราสามารถเอาไปปรับใช้ในการเลือก Exchange ที่ต้องการเทรดได้ แต่ไม่จำเป็นต้องให้ปัจจัยเหล่านี้มาผูกมัดเรามากจนเกินไป เราสามารถเลือกเทรดได้หลายๆที่พร้อมกัน ในจำนวนเงินที่น้อยก่อนได้ แล้วทำการเปรียบเทียบด้วยตัวเอง แล้วเราจะพบที่ที่เหมาะกับเราจริง ๆ

อ้างอิง

https://www.sofi.com/

https://www.investopedia.com/

https://www.wsj.com/

https://sensoriumxr.com/

https://www.efinancethai.com/

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *